หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์
พระอาจารย์เซน ติช นัท ฮันห์ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณระดับโลก กวี
และนักกิจกรรมเพื่อสันติ เป็นที่รู้จักแพร่หลายด้วยคำสอนอันทรงพลัง
และหนังสือติดอันดับขายดียอดเยี่ยมว่าด้วยสติและสันติภาพ
เป็นพระภิกษุที่สุภาพและถ่อมตนรูปหนึ่งซึ่ง ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์
เรียกขานท่านว่าเป็น “ผู้สื่อสารแห่งสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรง”
ในคราวเสนอชื่อท่านเพื่อรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ระหว่างที่ลี้ภัยจากบ้านเกิดของท่านในเวียดนามนานร่วม ๔ ทศวรรษ ติช นัท ฮันห์ได้เป็นผู้บุกเบิกพุทธศาสนาและการฝึกเจริญสติในโลกตะวันตก รวมทั้งก่อตั้งชุมชนแห่งพุทธศาสนา
ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแห่งศตวรรษที่ ๒๑

ชีวประวัติ
การอ่านชื่อของหลวงปู่
ชื่อของท่านมีความหมายว่า
“การกระทำเพียงหนึ่ง”
ในสำเนียงเวียดนามออกเสียงว่า
“ทิจ ญั๊ต หั่ญ”
โดย “ติช นัท ฮันห์”
เป็นการออกเสียงตามแบบของ
ลูกศิษย์ชาวฝรั่งเศส
ส่วนลูกศิษย์ทั่วไปของท่านเรียกขานท่านว่า “ไถ่” (Thay) ในภาษาเวียดนาม หมายถึง “ครู”
กิจกรรมเพื่อสังคมระหว่างสงครามเวียดนาม
เมื่อเกิดสงครามในเวียดนาม พระภิกษุและภิกษุณีต้องเผชิญกับคำถามว่า เราควรจะมุ่งสู่วิถีชีวิตแห่งการภาวนาปลีกวิเวกและบำเพ็ญสมาธิในวัดต่อไปหรือควรออกไปช่วยเหลือผู้คนที่กำลังทนทุกข์อยู่กับลูกระเบิดและความโกลาหลแห่งสงคราม ติช นัท ฮันห์เป็นหนึ่งในผู้ที่เลือกจะทำทั้งสองอย่าง และในการเลือกทำเช่นนี้จึงเกิดการก่อตั้งขบวนการพุทธศาสนาที่เข้าหาชีวิต (Engaged Buddhism) โดยเป็นศัพท์ที่บัญญัติในหนังสือของท่านเรื่อง “เวียดนาม ดอกบัวกลางทะเลเพลิง” นับแต่นั้นมา ชีวิตของท่านจึงอุทิศเพื่อการทำงานแปรเปลี่ยนภายในจิตใจเพื่อประโยชน์สุขแก่ปัจเจกบุคคลและสังคม
ช่วงปีแรกแห่งชีวิต
ถือกำเนิดในปี 1926 ในภาคกลางของประเทศเวียดนาม และได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ เมื่ออายุได้ 16 ปี และเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี 1950s ท่านได้เข้าร่วมขบวนการปรับปรุงพุทธศาสนายุคใหม่ในเวียดนามอย่างแข็งขัน และเป็นหนึ่งในพระภิกษุรูปแรกๆ ที่เข้าศึกษาในสาขาวิชาทางโลก ในมหาวิทยาลัยแห่งไซ่ง่อน และเป็นหนึ่งในหกของพระรูปแรก ๆ ในเวียดนามที่เริ่มใช้รถจักรยาน
ในปี 1961 ติช นัท ฮันห์เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อสอนวิชาศาสนาเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และในปีถัดมาก็ได้ออกเดินทางสอนและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ช่วงต้นทศวรรษ 1960 ติช นัท ฮันห์ ได้ก่อตั้ง โรงเรียนเยาวชนบริการสังคม (School of Youth and Social Service) ในเวียดนามซึ่งเป็นองค์กรบรรเทาทุกข์ ระดับรากหญ้า ประกอบไปด้วยอาสาสมัครกว่า 10,000 คน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งการไม่ใช้ความรุนแรงและการกระทำที่เปี่ยมความกรุณาในทางพุทธศาสนา
การฝึกสมาธิภาวนามิใช่เพื่อหลีกหนีจากสังคม แต่เพื่อกลับคืนสู่ตัวเราเองและเห็นอย่างชัดเจนต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อมีการเห็น ย่อมต้องมีการลงมือทำ ด้วยสติเราจึงจะรู้ว่าจะต้องทำหรือไม่ทำสิ่งใดในการช่วยเหลือ
ช่วงทศวรรษ 1960 ในฐานะที่เป็นนักวิชาการ ครู และนักกิจกรรมที่แข็งขัน ติช นัท ฮันห์ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ หว่านหั่ญ (Van Hanh Buddhist University) ในเมืองไซ่ง่อน พร้อมทั้งออกวารสารกิจกรรมเพื่อสันติภาพที่มีอิทธิพล ในขณะนั้น ปี 1966 ท่านได้ก่อตั้ง “คณะดั่งกันและกัน” (the Order of Interbeing) เป็นคณะผู้ปฏิญาณตนฝึกปฏิบัติโดยมีพื้นฐานอยู่บนศีลโพธิสัตว์ตามประเพณีพุทธศาสนา
วันที่ 1 เมษายน 1966 ณ วัดตื่อเฮี้ยว ท่านติช นัท ฮันห์ได้รับมอบตะเกียงธรรมจากพระมหาเถระเจินเถิด (Chan That) ผู้เป็นพระอาจารย์ของท่าน
ลี้ภัยจากเวียดนาม
ไม่กี่เดือนให้หลัง ท่านได้เดินทางสู่สหรัฐอเมริกาและยุโรปอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเรียกร้องสันติภาพและยุติสงครามในเวียดนาม ในช่วงปี 1966 นี้เองที่ท่านได้พบกับดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นครั้งแรก ผู้ซึ่งต่อมาได้เสนอชื่อท่านเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1967 ด้วยภารกิจครั้งนี้เองทำให้ทั้งเวียดนามเหนือและใต้ปฏิเสธสิทธิที่ท่านจะได้กลับคืนสู่เวียดนาม และนับเป็นการเริ่มต้นของการลี้ภัยจากบ้านเกิดที่ยาวนานนับ 39 ปี
ติช นัท ฮันห์ ยังคงเดินทางกว้างไกลต่อไปเพื่อเผยแพร่สารแห่งสันติภาพและความรักฉันพี่น้อง ดำเนินการเพื่อให้ผู้นำชาติตะวันตกยุติสงครามเวียดนาม และนำคณะผู้แทนชาวพุทธเข้าสู่ปาฐกถาว่าด้วยสันติภาพในปารีส ปี 1969

“ท่านเป็นผู้สื่อสารแห่งสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรง” มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

ติช นัท ฮีนห์ ในการเดินขบวนเพื่อสันติภาพ ณ เมืองนิวยอร์ก, 17 มิถุนายน 1982.
ก่อตั้งหมู่บ้านพลัมในฝรั่งเศส
ท่านยังทำการสอน อบรม และเขียนหนังสือเกี่ยวกับศิลปะแห่งการเจริญสติ และ “การดำเนินชีวิตอย่างศานติ” ในทศวรรษ 1970 ท่านได้เป็นวิทยากรและนักวิจัยด้านพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ปารีส ในปี 1975 ท่านได้ก่อตั้งอาศรมมันเทศ ใกล้ปารีส ปี 1982 ได้ย้ายออกมาสู่พื้นที่ที่กว้างขวางกว่าทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นที่รู้จักกันต่อมาว่า หมู่บ้านพลัม” (Plum Village)
ภายใต้การชี้นำทางจิตวิญญาณโดยพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ หมู่บ้านพลัมได้เติบโตขึ้นจากฟาร์มในชนบท กลายมาเป็น สถานปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดและมีกิจกรรมแข็งขันที่สุดในโลกตะวันตก โดยมีภิกษุภิกษุณีอยู่ประจำกว่า 200 รูป และผู้มาเยือนกว่า 10,000 คนในแต่ละปีจากทั่วโลก เพื่อเรียนรู้ “ศิลปะแห่งการใช้ชีวิตอย่างมีสติ”
หมู่บ้านพลัมต้อนรับผู้คนจากทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกรากเหง้าความเชื่อ เข้ามาร่วมการภาวนาที่พวกเขาสามารถเรียนรู้ วิธีการปฏิบัติธรรม เช่น การเดินอย่างมีสติ การนั่งสมาธิ ภาวนากับการรับประทานอาหาร ผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ ทำงานอย่างมีสติ รวมทั้งการหยุด การยิ้ม และการหายใจอย่างมีสติ เหล่านี้ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นการฝึกปฏิบัติ ทางพุทธศาสนาแต่โบราณ อันเป็นแก่นสารสำคัญที่พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ได้กลั่นกรองและพัฒนาเพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้อย่างง่ายดายและมีพลังในความท้าทายและความยากลำบากแห่งยุคสมัยของพวกเรา
ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ผู้คนกว่า 100,000 คนได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะฝึกฝนตามหลักจริยธรรมสากลโลกที่ได้รับการปรับปรุงในโลก ยุคใหม่ของพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “ข้อฝึกอบรมสติห้าประการ” (The Five Mindfulness Trainings) หรือ ศีลห้าฉบับปรับปรุง

หอสมาธิ ณ หมู่บ้านพลัมในปี 1990 หลวงปู่ สร้างหอสมาธิ จากโรงนาเก่า และเริ่มการฝึกสติให้แก่ผู้ฝึกปฏิบัติรุ่นแรก ๆ ในประเทศตะวันตก © Simon Chaput.

ธรรมะบรรยายให้แก่เด็กๆ ณ หอสมาธิน้ำนิ่ง วัดบน หมู่บ้านพลัม ประทศฝรั่งเศส
ไม่นานมานี้ พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ได้ก่อตั้งเวคอัพ (Wake Up) ขบวนการของคนหนุ่มสาวหลายพันคนทั่วโลกที่ฝึกฝนในวิถีการปฏิบัติแห่งการดำเนินชีวิตอย่างมีสติเหล่านี้ และได้เปิดตัว โรงเรียนตื่นรู้ (Wake Up Schools)ระดับนานาชาติ เป็นโครงการอบรมคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อสอนการฝึกสติในโรงเรียนทั่วยุโรป อเมริกา และเอเชีย
ติช นัท ฮันห์ เป็นศิลปินด้วยเช่นกัน โดยมีผลงานภาพลายพู่กันที่ได้รับความนิยมและเป็นเอกลักษณ์ โดยเป็นวลีสั้น ๆ และถ้อยคำที่สื่อถึงแก่นคำสอนแห่งการเจริญสติของท่าน โดยมีการจัดนิทรรศการแสดงภาพลายพู่กันเหล่านี้ที่ฮ่องกง ไต้หวัน ไทย แคนาดา เยอรมนี ฝรั่งเศส และนิวยอร์ก ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา
ในทศวรรษที่ผ่านมา ติช นัท ฮันห์ได้เปิดสถานปฏิบัติธรรมในแคลิฟอร์เนีย, นิวยอร์ก, เวียดนาม, ปารีส, ฮ่องกง, ประเทศไทย, มิสซิสซิปปี และออสเตรเลีย รวมทั้งสถาบันพุทธศาสนาประยุกต์ (Institute of Applied Buddhism) แห่งแรกในประเทศเยอรมนี
สถานปฏิธรรมเจริญสติในวิถีแห่งหมู่บ้านพลัมได้จัดงานภาวนาเป็นการพิเศษสำหรับนักธุรกิจ คุณครูและบุคลากรทางการศึกษา ครอบครัว บุคลากรทางการแพทย์ นักจิตบำบัด นักการเมือง และวัยรุ่นคนหนุ่มสาว เช่นเดียวกับทหารผ่านศึก และชาวอิสราเอล และปาเลสไตน์ โดยเฉลี่ยแล้วมีผู้คนประมาณ 75,000 เข้าร่วมกิจกรรมที่นำโดยภิกษุและภิกษุณีของหมู่บ้านพลัมทั่วโลกในแต่ละปี
ในช่วงปีที่ผ่านมา ติช นัท ฮันห์ได้นำกิจกรรมสำหรับสมาชิกของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา และสมาชิกรัฐสภาในสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ อินเดีย และประเทศไทย ท่านได้กล่าวกับสภาศาสนาโลกในเมลเบิร์น และยูเนสโกในปารีส โดยเรียกร้องให้มีขั้นตอ เฉพาะสำหรับยุติวงจรแห่งความรุนแรง สงคราม และสภาวะโลกร้อน ในการเยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2013 ท่านได้นำกิจกรรม การฝึกสติระดับสูงที่กูเกิล (Google) ธนาคารโลก (World Bank) และโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard School of Medicine)

หลวงปู่กำลังเชิญระฆัง หมู่บ้านพลัม ปี 2009. © Plum Village Community of Engaged Buddhism (PVCEB).
11 พฤศจิกายน 2014 หนึ่งเดือนหลังจากวันคล้ายวันเกิดปีที่ 88 ของท่าน หลังจากช่วงเวลาหลายเดือนของสุขภาพที่ทรุดโทรมลง อย่างรวดเร็ว ติช นัท ฮันห์ได้ประสบภาวะเลือดออกในสมองอย่างรุนแรง แม้ว่าท่านจะไม่สามารถพูดได้ และเป็นอัมพาต เกือบทั้งหมดของร่างกายซีกขวา แต่ท่านก็ยังคงสอนธรรมและสร้างแรงบันดาลใจผ่านการดำรงอยู่อย่างสงบ แจ่มใส และเข้มแข็ง
ปัจจุบัน ติช นัท ฮันห์พำนักอยู่ ณ วัดตื่่อเฮี้ยว ประเทศเวียดนาม ที่ซึ่งท่านได้ออกบวชกับพระอาจารย์เมื่ออายุได้ 16 ปี และท่านได้แสดงเจตน์จำนงที่จะใช้วันเวลาที่เหลืออยู่ที่นี่ ท่านออกมาเยี่ยมเยือนหิ้งบูชาและอุโบสถวัดเป็นครั้งคราว พร้อมกับ นำสังฆะในการเดินอย่างมีสติรอบสระน้ำและสถูปของเหล่าพระบูรพาจารย์ หลวงปู่ได้กลับคืนสู่วัดตื่อเฮี้ยวกลายเป็นเสียงระฆังแห่งสติเตือนเรา ว่าการที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในสายธารแห่งจิตวิญญาณที่มีรากหยั่งลึกซึ้งนั้นประเสริฐเพียงไร แม้ว่าเราจะได้เข้าร่วมงานภาวนา หรือ เพียงแต่ได้อ่านหนังสือของหลวงปู่เพียงเล่มหนึ่ง หรือได้ชมธรรมบรรยายสักครั้งหนึ่ง และเกิดสัมผัสได้ในคำสอนของท่าน พวกเรา ทั้งหมดต่างเชื่อมโยงกับกระแสธารแห่งปัญญาญาณและกรุณาแห่งเหล่าบรรพบุรุษทางจิตวิญญาณสายนี้ด้วยกันทั้งสิ้น

ณ วัด ตื่อ ฮิ้ว ประเทศเวียดนาม ปี 2005 ในปี 2005 หลวงปู่ได้เดินทางกลับประเทศเวียดนามหลังจากถูกเนรเทศ 39 ปี ในรูปภาพคือ ซุ้มประตูหน้าวัดต้นกำเนิด ที่หลวงปู่ต้องจากไปตั้งแต่ พฤษภาคม 1966.
© Paul Davis / Touching Peace Photography.
หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ ละสังขารอย่างสงบในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 22 มกราคม 2022 ณ กระท่อมรับฟังอย่างลึกซึ้ง วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ท่ามกลางเหล่าศิษยานุศิษย์อันเป็นที่รัก ผู้ฝึกปฏิบัติในชุมชนหมู่บ้านพลัมจากทั่วโลกเดินทางมายังวัดตื่อเฮี้ยว และรับชมผ่านออนไลน์ จำนวนหลายแสนคนต่างร่วมกันปฏิบัติในงานภาวนา สักการะสรีรสังขารผ่านดวงใจ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ร่วมกันสร้างพลังอันยิ่งใหญ่แห่งความเมตตากรุณา ความศานติ และความรักฉันท์พี่น้อง
พิธีสลายสรีรสังขารหลวงปู่ติช นัท ฮันห์จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 29 มกราคม ที่เมืองเว้ อัฐิของท่านได้ถูกเชิญไปสู่ศูนย์ปฏิบัติธรรมทั้งหลายของท่านในยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย
มรดกอันทรงคุณค่าที่หลวงปู่มอบไว้ให้กับเรา คือพระพุทธศานาแบบประยุกต์ ยังคงดำเนินต่อไปโดยชุมชนนักบวชมากกว่า 700 รูป ใน 11 ศูนย์ปฏิบัติธรรม ตลอดจนธรรมาจารย์ฆราวาสหลายร้อยรูป สมาชิกหลายพันคนในครธดั่งกันและกัน และผู้ฝึกปฏิบัติหลายแสนคนทั่วโลก ผ่านการสอนแบบออนไลน์ งานภาวนาต่างๆ ทั้ง ในศูนย์ปฏิบัติธรรมและสถานที่อื่นๆ และกิจกรรมที่มีส่วนร่วมกับสังคม ชุมชนหมู่บ้านพลัมนานาชาติแห่งพระพุทธศาสนาแบบประยุกต์นี้ยังคงสืบสานคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของท่านต่อไป
Word from https://plumvillage.org
พิธีอัญเชิญอัฐิธาตุหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ 12 กุมภาพันธ์ 2565
คำนิยม
ติช นัท ฮันห์ เป็นมนุษย์ทีศักดิ์สิทธิ์ ด้วยความถ่อมตนและการอุทิศตน
ท่านเป็นนักวิชาการที่มีความสามารถทางสติปัญญาอย่างไพศาล
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ Martin Luther King, Jr.
ท่านได้แสดงให้เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสันติภายในของปัจเจกบุคคลและสันติภาพโลก
ท่านได้แสดงให้เราเห็นประโยชน์ของสติและสมาธิ
เพื่อแปรเปลี่ยนและเยียวยาสภาพทางจิตที่ยากลำบาก
ทาไล ลามะ Holiness the Dalai Lama
ติช นัท ฮันห์ ได้กล่าวด้วยสุรเสียงแห่งพระพุทธเจ้า
ติช นัท ฮันห์ เป็นเสียงที่สำคัญที่สุดเสียงหนึ่งในยุคสมัยของพวกเรา
และเราจำเป็นต้องรับฟังเสียงของท่านในตอนนี้มากกว่ายุคสมัยใดทั้งสิ้น
โชเกียว รินโปเช Sogyal Rinpoche
ติช นัท ฮันห์ คือกวีอย่างแท้จริง
โรเบิร์ต โลเวล Robert Lowell, US Poet Laureate; Winner, Pulitzer Prize for Poetry
ติช นัท ฮันห์ เป็นพี่น้องของข้าพเจ้า
มากกว่าคนที่มีชาติพันธุ์หรือสัญชาติร่วมกับข้าพเจ้าเสียอีก
เพราะท่านและข้าพเจ้าได้เห็นสิ่งต่างๆ ในแบบเดียวกัน
โทมัส เมอร์ตัน Thomas Merton
ท่านเป็นจุดบรรจบระหว่างก้อนเมฆ หอยทาก
และเครื่องยนต์หนัก ท่านเป็นการปรากฏที่แท้แห่งวิถีจิตวิญญาณ
ริชาร์ด เบเกอร์ โรชิ American Buddhist Richard Baker-Roshi
ท่านเห็นว่าสตินั้นไปพ้นจากศาสนา
ในขณะเดียวกันก็มีความเคารพอย่างยิ่งต่อศาสนาอื่นๆ
ท่านต้องการทำพุทธศาสนาให้ใหม่สด
และท่านได้แนะนำสิ่งที่เรียกว่า พุทธศาสนาที่เข้าถึงสังคม
เพื่อลดบรรเทาความทุกข์ของมนุษย์ ท่านมีความตื่นรู้และตระหนักรู้อย่างกระจ่างใส
ซิสเตอร์ สเตนิลัส เคนเนดี้ Sister Stanislaus Kennedy,
founder of the Sanctuary and Focus Ireland
ความสามารถทางวิชาการของท่านมีพื้นฐานหนักแน่นโดยปราศจากความคลุมเครือใดๆ
ท่านสามารถทำให้คำสอนที่ยากจะเข้าใจให้เราสามารถเข้าถึงได้
และยังทำให้มีชีวิตชีวา อย่างที่คุณสามารถเห็นได้ว่าจะใช้มันได้อย่างไร
อลัน เซนากี Alan Senauke, former executive director of the Buddhist Peace Fellowship
ท่านเป็นผู้สืบทอดประทีปธรรมสู่ตะวันตกอย่างพิเศษสุดท่านหนึ่ง
ติช นัท ฮันห์ มีความสามารถที่จะอธิบายคำสอนแห่งการอิงอาศัยกันเกิดขึ้น
และความว่างอย่างลึกซึ้งที่สุดเท่าที่ฉันได้เคยฟัง พร้อมด้วยความสามารถในการโน้มน้าวใจแห่งกวี
ท่านได้ถือชิ้นกระดาษและสอนเราว่า ฝน เมฆ ต้นไม้ และคนตัดไม้ที่ตัดต้นไม้นั้นลง ทั้งหมดอยู่ในกระดาษ
แจค คอนฟิว Jack Kornfield
พระอาจารย์เซนที่มีผู้เข้ารับฟังมากมายจนเต็มหอประชุม
คำสอนทางพุทธศาสนาสำหรับโลกตะวันตกร่วมสมัยของท่าน
ได้บรรจุเนื้อหาว่าด้วยสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มแข็ง
ซึ่งทำให้ท่านกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างโดดเด่นในขยวนการสีเขียว
ลอนดอน อินดีเพนเดน London Independent 2010
ติช นัท ฮันห์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่เป็นที่เคารพรักที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยของพวกเรา
ท่านเป็นที่รักของผู้คนในหลากหลายความเชื่อ รวมทั้งผู้ไร้ศาสนา
คริสตา ทิปเพต Krista Tippett, on Speaking of Faith, America's Public Radio